โครงการต่อต้านคอร์รปชั่น จุดเปลี่ยนประเทศ
หลังจากเหตุการณ์ชุมนุมภายในประเทศได้ยุติลง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดประชุมหารือคณะกรรมการบริหารฯ เป็นกรณีพิเศษ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 เนื่องจากมีความห่วงใยในสถานการณ์และมีความกังวลในภาพลักษณ์ของประเทศ โดยที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันถึงเหตุผลและความเป็นมาต่าง ๆ ของปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นกับประเทศ และเห็นว่า เราจะให้ความสำคัญเฉพาะด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวคงไม่ได้ คงจะต้องให้ความสำคัญกับสังคมด้วย เพราะหากสังคมยังมีปัญหา เศรษฐกิจคงจะก้าวหน้าด้วยความยากลำบาก ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบร่วมกันที่ร่วมใจกันแก้ไขปัญหาตามกรอบแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ใน 4 ประเด็นหลัก ด้วยกัน คือ 1. ยุติความแตกแยก 2. ลดความเหลื่อมล้ำของกระจายรายได้ 3. สนับสนุนให้คนไทยใช้ผลผลิตของไทยและท่องเที่ยวในประเทศไทย และเรื่องที่ 4. คือ ป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่นในระดับต่าง ๆ อย่างจริงจัง เพราะเห็นว่าทั้ง 4 เรื่องนี้เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาทางด้านสังคมของประเทศ โดยเราจะอาศัยเครือข่ายที่มีอยู่ของเรา ทั้ง หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัด สมาคมการค้า หอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกันดำเนินการ และได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบให้ดำเนินการตามกรอบแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ในบทบาทของหอการค้าไทย ทั้ง 4 แนวทาง โดยแนวทางที่ 4 เรื่องการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่นในทุกระดับอย่างจริงจัง ได้มอบหมายให้รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (Mr. Ferdinand Gyula von der Luehe) เป็นประธานคณะทำงาน โดยมี Mr. John W. Hancock เป็นที่ปรึกษา และมีกรรมการรองเลขาธิการ (คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร) เป็นผู้ประสานงาน หลังจากนั้นได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อแจ้งให้ทราบว่า หอการค้าไทยและเครือข่ายจะดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ แต่ก็ยังไม่ได้มีการเชิญชวนเข้าร่วมดำเนินการ
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 คุณดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสระเพื่อต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นของฮ่องกง (ICAC) เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เนื่องจากเห็นว่า เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ฮ่องกงเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้ที่มีการคอร์รัปชั่นสูงอยู่ในระดับต้น ๆ ของภูมิภาค แต่ปัจจุบันฮ่องกงได้มีการแก้ไขปัญหานี้และกลับมาเป็นประเทศที่มีความโปร่งใสในระดับต้น ๆ ของภูมิภาคเอเชีย และของโลก (อันดับ 2 ของเอเชีย รองจากสิงคโปร์ และเป็นอันดับที่ 13 ของโลกจาก 178 ประเทศ : ที่มา จากดรรชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น ประจำปี 2553)หลังจากนั้น ในการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 26- 28 พฤศจิกายน 2553 ณ จังหวัดขอนแก่น หอการค้าไทยได้นำเรื่องนี้เป็นประเด็นในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการกลุ่มที่ 3 เรื่อง " มุ่งขจัดคอร์รัปชัน : เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน " โดยมีประธานกลุ่ม ประกอบด้วย : คุณพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย, Mr.Ferdinand Gyula Von der Luehe รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และคุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย โดยมี ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นเลขานุการกลุ่ม และได้นำตัวอย่างความสำเร็จของฮ่องกง เป็นตัวอย่างในการสัมมนาที่มาของการเกิดภาคีเครือข่ายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น และเหตุผลที่ทำไมต้องมีการรวมตัวในครั้งนี้
จากการที่เราได้ดำเนินการมาทั้งหมดในปี 2553 ทำให้เราทราบว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ที่ฝังรากลึกอย่างยาวนานอยู่ในสังคมไทยและเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกหลายเรื่อง และที่สำคัญปัจจุบันปัญหาคอร์รับชั่น กลับถูกมองเป็นเรื่องปกติธรรมดาและยอมรับได้ในสังคมไทย ซึ่งความคิดเช่นนี้ เป็นอันตรายต่อความมั่นคงในทุก ๆ ด้านของประเทศ ดังนั้น การจะแก้ไขปัญหาระดับชาตินี้ จึงไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน หอการค้าไทยตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบของปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างมาก และเห็นว่าหากปล่อยให้ภาครัฐ หรือองค์กรอิสระต่าง ๆ ทำหน้าที่ตามภารกิจที่กฎหมายกำหนดไปตามปกติ ปัญหาก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ และนับวันก็จะยิ่งมีปริมาณที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้น จึงได้เห็นชอบให้มีการขยายเครือข่ายในการต่อต้านคอร์รัปชั่นให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยกระจายเครือข่ายออกไปยังองค์กรต่าง ๆ ที่มีแนวความคิดเดียวกัน และทนไม่ได้กับพฤติกรรมการคอร์รัปชั่น ที่นับวันจะบ่อนทำลายสังคมประเทศให้ถดถอยจนยากที่จะเยียวยา โดยจัดตั้งเป็นภาคีแครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 20 หน่วยงาน ที่เข้ามาร่วมเป็นองค์กรเครือข่าย และหวังว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเชื่อว่า พลังของเครือข่ายเหล่านี้ จะสามารถขับเคลื่อนกระบวนการในการต่อต้านคอร์รัปชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปหลังจากการหารือกันหลายครั้งของพลังเครือข่ายดังกล่าว จึงได้เกิดงานสัมมนา เรื่อง " จุดเปลี่ยนคอร์รัปชั่น กับอนาคตประเทศไทย " ขึ้นในวันพุธที่ 1 มิถุนายน 2554 ณ ห้องแอทธินี คริสตัล ฮอลล์ ชั้น 3 โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ เพื่อแสดงจุดยืนของพวกเราในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศ และหลังจากนี้ จะมีความพยายามอื่น ๆ ตามมาอีกในหลากหลายรูปแบบ เชื่อว่าการแสดงจุดยืนในครั้งนี้ จะเป็นแรงกระตุ้นให้กับทุกภาคส่วนลุกขึ้นมารวมพลังกัน ต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชั่นให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย