พระราชบัญญัติ
หอการค้า (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๕๐

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
      พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
      โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยหอการค้า
      จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
      มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติหอการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐"
      มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
      มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า "หอการค้า" "รัฐวิสาหกิจ" และ "สหกรณ์" ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      "หอการค้า" หมายความว่า สถาบันที่บุคคลหลายคนจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้า การบริการ การประกอบวิชาชีพอิสระ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงินหรือเศรษฐกิจ อันมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้แบ่งปันกัน
      "รัฐวิสาหกิจ" หมายความว่า รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณเฉพาะที่เป็นนิติบุคคล และมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการค้า การบริการ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงินหรือเศรษฐกิจ
      "สหกรณ์" หมายความว่า สหกรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์เฉพาะที่มีวัตถุประสงค์ เกี่ยวกับการค้า การบริการ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงินหรือเศรษฐกิจ"
      มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      "มาตรา ๗ ให้จัดตั้งสำนักงานกลางทะเบียนหอการค้าขึ้นในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อควบคุมการออกใบอนุญาตและการจดทะเบียนหอการค้าทั่วราชอาณาจักร และทำหน้าที่เป็นสำนักงานทะเบียนหอการค้าประจำกรุงเทพมหานคร
      ในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้จัดตั้งสำนักงานทะเบียนหอการค้าประจำจังหวัด ขึ้นตรงต่อสำนักงานกลางทะเบียนหอการค้า
      ให้อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามอบหมายเป็นนายทะเบียนกลางหอการค้า และนายทะเบียนหอการค้าประจำกรุงเทพมหานคร และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร หรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นนายทะเบียนหอการค้าประจำจังหวัด"
      มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      "มาตรา ๑๐ เมื่อนายทะเบียนได้รับคำขออนุญาตและพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อบังคับไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่เป็นภัยต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน และผู้เริ่มก่อการจัดตั้งเป็นผู้ซึ่งมีความประพฤติดี ให้นายทะเบียนสั่งอนุญาตและออกใบอนุญาตหอการค้าให้แก่ผู้ขออนุญาต พร้อมทั้งจดทะเบียนหอการค้าให้ด้วย"
      มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      "มาตรา ๑๔ หอการค้าจังหวัดจะจัดตั้งขึ้นได้จังหวัดละหนึ่งหอการค้า โดยหอการค้าจังหวัดในกรุงเทพมหานครให้เรียกว่าหอการค้าไทย
      หอการค้าต่างประเทศจะจัดตั้งขึ้นได้เพียงประเทศละหนึ่งหอการค้า"
      มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ และมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
     "มาตรา ๒๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๑ สมาชิกของหอการค้าจังหวัดต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่มีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นเกินกึ่งจำนวนเงินทุนของนิติบุคคลนั้น และเป็นผู้ประกอบวิสาหกิจในทางการค้า การบริการ การประกอบวิชาชีพอิสระ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงินหรือเศรษฐกิจ หรือต้องเป็นสมาคมการค้า ที่มีสมาชิกซึ่งมีสัญชาติไทยเกินกึ่งจำนวนของสมาชิกทั้งหมด หรือต้องเป็นรัฐวิสาหกิจหรือสหกรณ์
      สมาชิกสามัญของหอการค้าจังหวัด นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งแล้ว จะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่หอการค้าตั้งอยู่ด้วย
      บุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือสมาคมการค้าที่มิได้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง จะเป็นได้แต่เพียงสมาชิกสมทบของหอการค้าจังหวัดเท่านั้น
     สมาชิกของหอการค้าจังหวัดหนึ่ง จะเป็นสมาชิกสมทบของหอการค้าไทย หรือหอการค้าจังหวัดอื่นอีกก็ได้

      มาตรา ๒๑ หอการค้าไทยประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่มีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นเกินกึ่งจำนวนเงินทุนของนิติบุคคลนั้น และเป็นผู้ประกอบวิสาหกิจในทางการค้า การบริการ การประกอบวิชาชีพอิสระ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงินหรือเศรษฐกิจ หรือเป็นรัฐวิสาหกิจ สหกรณ์ หรือหอการค้าจังหวัด
      หอการค้าจังหวัดต้องเป็นสมาชิกสามัญของหอการค้าไทย
      สมาชิกสามัญอื่นยกเว้นหอการค้าจังหวัดจะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร
      สมาชิกของหอการค้าไทย จะเป็นสมาชิกสมทบของหอการค้าจังหวัดอื่นอีกก็ได้

      มาตรา ๒๒ หอการค้าต่างประเทศประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร และเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติประเทศของหอการค้านั้น หรือนิติบุคคลที่มีบุคคลธรรมดา สัญชาติประเทศของหอการค้านั้นเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นตั้งแต่กึ่งจำนวนเงินทุนของนิติบุคคลนั้น รวมทั้งสาขาของนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศของหอการค้านั้นเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด และเป็นผู้ประกอบวิสาหกิจในทางการค้า การบริการ การประกอบวิชาชีพอิสระ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงินหรือเศรษฐกิจ
      หอการค้าต่างประเทศต้องเป็นสมาชิกของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

      มาตรา ๒๓ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นผู้แทนหอการค้า ต่างประเทศหอละห้าคน ผู้แทนสมาคมการค้าสมาคมละสองคน ผู้แทนรัฐวิสาหกิจแห่งละสองคน ผู้แทนสหกรณ์แห่งละสองคน และผู้แทนหอการค้าไทยมีจำนวนไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
      ผู้แทนหอการค้าไทยตามวรรคหนึ่งต้องประกอบด้วยผู้แทนหอการค้าจังหวัดทุกจังหวัด ที่เป็นสมาชิกของหอการค้าไทย
      บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกของหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด หอการค้าต่างประเทศ สมาคมการค้า หรือสหกรณ์ จะเป็นได้แต่เพียงสมาชิกสมทบของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเท่านั้น"
      มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความใน (๔) ของมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      "(๔) คณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย
      (ก) ประธานกรรมการหอการค้าไทยเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง
      (ข) รองประธานกรรมการสี่คน โดยให้คณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เลือกตั้งจากกรรมการฝ่ายหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด หอการค้าต่างประเทศ และสมาคมการค้าฝ่ายละหนึ่งคน
      (ค) กรรมการตามจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ โดยที่ประชุมใหญ่สมาชิกเลือกตั้งมาจากผู้แทนหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด หอการค้าต่างประเทศ และสมาคมการค้า ฝ่ายละเท่ากัน
      (ง) กรรมการซึ่งกระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งจากผู้แทนรัฐวิสาหกิจและสหกรณ์รวมกันจำนวนหกคน"
      มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      "มาตรา ๒๕ ให้หอการค้ามีคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินกิจการของหอการค้า และเป็นผู้แทนของหอการค้าในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการจะมอบหมายให้กรรมการหรือเจ้าหน้าที่บริหารของ หอการค้าในระดับผู้อำนวยการหรือรองผู้อำนวยการทำการแทนก็ได้"
      มาตรา ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙
      "ในกรณีที่กรรมการที่มิใช่กรรมการซึ่งกระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งออกจาก ตำแหน่งก่อนครบวาระและวาระของกรรมการเหลือไม่น้อยกว่าสองเดือน ให้คณะกรรมการ เลือกบุคคลตามมาตรา ๒๔ แล้วแต่กรณี เข้าดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการแทน และให้บุคคลซึ่งเข้าเป็นกรรมการแทนนั้น อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่ยังเหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน"
      มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความใน (๑) และ (๒) ของมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      "(๑) ส่งเสริมการค้า การบริการ การประกอบวิชาชีพอิสระ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงินหรือเศรษฐกิจโดยทั่วไป เช่น รวบรวมสถิติ เผยแพร่ข่าวสารการค้า วิจัยเกี่ยวกับการค้าและการเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว การออกใบรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้า การวางมาตรฐานแห่งคุณภาพของสินค้า การตรวจสอบมาตรฐานสินค้า จัดตั้งและดำเนินการสถานการศึกษาที่เกี่ยวกับการค้าและเศรษฐกิจ พิพิธภัณฑ์สินค้า การจัดงานแสดงสินค้า การเป็นอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาททางการค้า
      (๒) รับปรึกษาและให้ข้อแนะนำแก่สมาชิกเกี่ยวกับการค้า การบริการ การประกอบวิชาชีพอิสระ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงินหรือเศรษฐกิจ และช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจของสมาชิก"
      มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกความใน (๑) ของมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      "(๑) ประกอบวิสาหกิจโดยหอการค้านั้นเอง หรือเข้าดำเนินการในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิกหรือ เข้ามีส่วน ถือหุ้น เป็นหุ้นส่วน หรือร่วมทุนในการประกอบวิสาหกิจกับบุคคลใดๆ เว้นแต่เป็นการถือตราสารหนี้ หรือเข้าถือหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้แก่หอการค้า"
      มาตรา ๑๓ ให้ยกเลิกความใน (๓) ของมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      "(๓) ให้เงิน หรือให้กู้ยืมเงินแก่สมาชิกหรือบุคคลอื่นใด เว้นแต่เป็นการให้ เพื่อการกุศลสาธารณะ หรือตามหน้าที่ศีลธรรม หรือตามควรแก่อัธยาศัยในสังคม หรือเพื่อเป็นสวัสดิการแก่พนักงานของหอการค้า"
      มาตรา ๑๔ ให้ยกเลิกความใน (๙) ของมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      "(๙) ให้ หรือยอมให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่กรรมการดำเนินกิจการในหน้าที่ของกรรมการ เว้นแต่ผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายตามมาตรา ๒๕"
      มาตรา ๑๕ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      "ถ้านายทะเบียนเห็นว่าผู้ได้รับการตั้งให้เป็นกรรมการนั้นเป็นผู้ ซึ่งมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจเป็นภัยต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นายทะเบียนมีอำนาจไม่รับจดทะเบียนผู้นั้นเป็นกรรมการของหอการค้าได้"
      มาตรา ๑๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      "มาตรา ๔๒ ถ้าที่ประชุมใหญ่ของหอการค้าลงมติอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย หรือข้อบังคับของหอการค้า เมื่อสมาชิกคนหนึ่งคนใดหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอ ให้ศาล เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่นั้นเสีย แต่ในกรณีที่สมาชิกร้องขอให้เพิกถอนให้กระทำภายใน กำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้ลงมตินั้น"
      มาตรา ๑๗ ให้ยกเลิกความใน (๔) ของมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      "(๔) เมื่อปรากฏว่าหอการค้าให้ หรือยอมให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่กรรมการดำเนินกิจการในหน้าที่ของกรรมการ เว้นแต่ผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายตามมาตรา ๒๕"
      มาตรา ๑๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖๐/๑ แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙
      "มาตรา ๖๐/๑ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบได้ และเมื่อผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตามที่ได้เปรียบเทียบแล้ว ให้คดีเป็นอันเลิกกันตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา"
      มาตรา ๑๙ ให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการสภาหอการค้า แห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระการดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
      มาตรา ๒๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
   พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
         นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้ใช้บังคับมานานแล้ว ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน สมควรแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้ง การเข้าเป็นสมาชิก และการดำเนินกิจการของหอการค้าให้เหมาะสม เพื่อให้หอการค้ามีความเข้มแข็งและมีความคล่องตัวในการบริหารงานยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้